วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ด้วงก้นกระดก


ระวัง ด้วงก้นกระดก พิษร้ายถึงตาบอด

ด้วงก้นกระดก

ด้วงก้นกระดก


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ภาควิชากีฏวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

            ก้าวเข้าสู่ต้นฤดูฝน ทำให้แมลงอย่าง "ด้วงก้นกระดก" หรือ "ด้วงปีกสั้น" ชุกชุมมากขึ้นในหลายจังหวัด ซึ่งล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาเตือนให้ประชาชนระวังพิษของ "ด้วงก้นกระดก" เพราะอาจทำอันตรายถึงขั้นตาบอดได้

            โดย "ด้วงก้นกระดก" มีชื่ออื่น ๆ ว่า "ด้วงปีกสั้น" หรือ "ด้วงก้นงอน" (Rove Beetle)มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน ลักษณะของ "ด้วงก้นกระดก" จะมีลำตัวเป็นเงามัน ยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร ส่วนหัวมีสีดำ ปีกสีน้ำเงินเข้ม ลำตัวมีสีดำสลับส้ม มักจะงอท้องส่ายขึ้นลงเมื่อเกาะอยู่กับพื้น โดยทั่วไป "ด้วงก้นกระดก" จะอาศัยอยู่ในพงหญ้าที่มีความชื้น และมักจะออกมาเล่นไฟตามบ้านเรือนในตอนกลางคืน "ด้วงก้นกระดก" สามารถพบได้ทั่วโลก แต่จะพบมากที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งมีมากถึง 3,100 ชนิด ส่วนที่ประเทศไทย คาดว่ามี "ด้วงก้นกระดก" ประมาณ 20 ชนิด

            ประโยชน์ของ "ด้วงก้นกระดก" ก็คือ ช่วยควบคุมแมลงศัตรูพืชตามธรรมชาติ และกลับมีพิษต่อคน โดย "ด้วงก้นกระดก" จะมีพิษ "เพเดอริน" (Paederin) อยู่ทั่วตัว และมีสารพิษอยู่ในตัวประมาณ 0.025 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว พิษนี้มีฤทธิ์ทำลายเซลล์เนื้อเยื่อ ส่วนใหญ่จะพบพิษใน "ด้วงก้นกระดก" ตัวเมีย ซึ่งตามปกติ "ด้วงก้นกระดก" จะไม่กัด หรือต่อยคน แต่พิษสามารถปล่อยออกมาได้ หาก "ด้วงก้นกระดก" ตกใจ ถูกตี ถูกบีบ บดขยี้ เพื่อเป็นการป้องกันตัว

            อันตรายของพิษ "ด้วงก้นกระดก" คือ หากถูกพิษภายใน 24 ชั่วโมงแรก จะเกิดผื่นแพ้ที่ผิวหนังอย่างเฉียบพลัน เกิดการอักเสบ แสบร้อน พุพอง และเกิดการอักเสบขยายวงกว้างขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง จากนั้นแผลจะตกสะเก็ดภายใน 8 วัน จนสามารถกลายเป็นแผลเป็นได้ ในบางรายอาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเส้นประสาท ปวดกล้ามเนื้อ อาจียน คนที่แพ้พิษอย่างรุนแรง ผิวหนังอาจอักเสบหลายแห่ง คล้ายเป็นโรคงูสวัด หรืออาจเป็นผื่นแดงติดต่อกันนานหลายเดือน แต่หากพิษเข้าตา ก็อาจทำให้ตาบอดได้เลยทีเดียว

            ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม - เมษายนปีนี้ (2553) มีรายงานว่า พบผู้ถูกพิษ "ด้วงก้นกระดก" แล้ว 26 ราย ที่จังหวัดราชบุรี และทุกรายมีผิวหนังเป็นผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อน บางรายตาแดง และปวดหู ก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ.2536 มีรายงานเป็นครั้งแรกว่า พบผู้ได้รับพิษจาก "ด้วงก้นกระดก" โดยเป็นผู้ใช้แรงงานในจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 27 รายที่เกิดอาการผิวหนังอักเสบเฉียบพลัน

            ต่อมาในปี พ.ศ.2549 ก็มีรายงานว่า พบผู้ถูกพิษ "ด้วงก้นกระดก" อีก 113 รายที่จังหวัดนครสวรรค์ และที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีก 30 คน ส่วนใหญ่มีอาการเดียวกัน คือ พบผื่นแดงเป็นทางยาว ลักษณะคล้ายรอยไหม้ และมีอาการปวดแสบปวดร้อน ขณะที่ในต่างประเทศยังเคยมีรายงานว่า พบผู้ป่วยที่รับพิษจาก "ด้วงก้นกระดก" และมีอาการรุนแรงกว่า 2,000 รายในเมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น เช่นเดียวกับที่ประเทศอินเดียที่พบผู้ป่วย 123 รายเช่นกัน

            สำหรับคำแนะนำในการป้องกัน "ด้วงก้นกระดก" ก็คือ ไม่ควรจับด้วงมาเล่น หรือตบตีเมื่อด้วงบินมาเกาะตามตัว ก่อนนอนควรปัดที่นอน หมอน มุ้ง ผ้าห่ม ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ก่อน เพื่อป้องกัน "ด้วงก้นกระดก" รวมทั้งในช่วงกลางคืนควรเปิดไฟเฉพาะเท่าที่จำเป็น เพราะ "ด้วงก้นกระดก" มักชอบออกมาเล่นแสงไฟ

            สุดท้าย หากถูกพิษของ "ด้วงก้นกระดก" แล้ว ให้รีบล้างด้วยน้ำเปล่า ฟอกสบู่ หรือเช็ดด้วยแอมโมเนีย และไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น