วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ผังเมืองน่ารู้


1 รู้จักกฎหมายผังเมือง
กฎมายว่าด้วยการผังเมือง เป็นกฎหมายที่ควบคุมเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินตราขึ้น บังคับใช้ในรูปของพระราชบัญญัติ การผังเมือง พ.ศ. 2518 สาระสำคัญกล่าวถึงการวางและจัดทำผังเมืองรวม และผังเมืองเฉพาะ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ และมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

ผังเมืองรวม หมายถึง แผนผัง นโยบายและโครงการรวมทั้งมาตรการควบคุมโดยทั่วไปเพื่อใช้เป็น แนวทางในการพัฒนา และการดำรงรักษาเมือง และบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคม และการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อม เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการผังเมือง การบังคับใช้ผังเมืองรวม จะตราเป็นกฎกระทรวง

ผังเมืองเฉพาะ หมายถึง แผนผังและโครงการดำเนินการเพื่อพัฒนาหรือดำรงรักษาบริเวณเฉพาะแห่งหรือ กิจการที่เกี่ยวข้อง ในเมือง และบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบทเพื่อประโยชน์แก่การผังเมือง
การบังคับใช้ผังเมืองเฉพาะ จะตราเป็นพระราชบัญญัติ

กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2549

เป็นกฎหมายที่ประกาศให้ใช้บังคับผังเมืองรวมในเขตกรุงเทพมหานครตราขึ้น โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 มีอายุการบังคับใช้ 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2549 ถึง 15 พฤษภาคม 2554 และสามารถขยายระยะเวลาการบังคับใช้ต่อไปได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี

การบังคับใช้กฎกระทรวง
เมื่อมีการประกาศให้ใช้บังคับผังเมืองรวมแล้ว ห้ามบุคคลใดใช้ประโยชน์ที่ดินผิดไปจากที่ได้กำหนดไว้ในผังเมืองรวม หรือปฏิบัติการใดๆซึ่งขัดกับข้อกำหนดของผังเมืองรวม เว้นแต่กรณีที่ได้มีการใช้ประโยชน์ที่ดิน มาก่อนที่จะมีกฎกระทรวง ให้ใช้บังคับผังเมืองรวม และประสงค์จะใช้ประโยชน์ที่ดินเช่นนั้นต่อไป แต่การใช้ประโยชน์ที่ดินเช่นนั้น ใช้ได้เฉพาะเท่าที่ มีอยู่ในขณะนั้นเท่านั้น จะใช้ประโยชน์ที่ดินเกินกว่าที่เคยมีมาก่อนไม่ได้
กฎกระทรวง จะไม่มีผลใช้บังคับย้อยหลังกับการ ใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีมาก่อน แต่ถ้าประสงค์จะขอใช้ประโยชน์ที่ดิน เพิ่มขึ้นจากเดิม ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ประกาศใช้บังคับในปัจจุบัน

บทกำหนดโทษ
ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงผังเมืองรวม มีความผิดต้องระวางโทษ 3 สถาน คือ
1. จำคุกไม่เกินหกเดือน
2. ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
3. ทั้งจำคุกทั้งปรับ


2 สาระสำคัญของกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2549
กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2549 มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย
1. วัตถุประสงค์ในการวางและจัดทำผัง
2. คำนิยาม
3. แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินพร้อมข้อกำหนด
4. แผนผังแสดงที่โล่งพร้อมข้อกำหนด
5. แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและจนส่ง
6. มาตรการ และวิธีการ

วัตถุประสงค์ในการวางและจัดทำผัง
เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนากรุงเทพมหานคร ให้เป็นเมืองน่าอยู่มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีบริการพื้นฐานทางสังคม สาธารณูปโภค สาธารณูปการอย่างพอเพียงและได้มาตรฐาน มีระบบคมนาคมขนส่งที่สมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมเอกลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรมของชาติ และเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ วิทยากร การบริหาร และการปกครองของประเทศ

คำนิยาม
“การใช้ประโยชน์ที่ดิน” หมายความว่า การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการใดๆ ไม่ว่ากิจการนั้นจะกระทำบนพื้นดิน เหนือพื้นดิน หรือใต้พื้นดิน และไม่ว่าจะอยู่ภายในอาคารหรือนอกอาคาร

“พื้นที่ประกอบการ” หมายความว่า พื้นที่ที่ใช้ประกอบกิจการบนพื้นดิน เหนือพื้นดิน หรือใต้พื้นดิน และให้หมายความรวมถึงพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ต่อเนื่องของกิจการ ไม่ว่าจะอยู่ภายในอาคารหรือนอกอาคาร

“อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน” (FAR) หมายความว่าอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมทุกชั้น ของอาคารทุกหลัง ต่อพื้นที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคาร

“อัตราส่วนของที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม” (OSR) หมายความว่าอัตราส่วนของที่ว่างอันปราศจาก สิ่งปกคลุมต่อพื้นที่ อาคารรวมทุกชั้นของอาคารทุกหลังที่ก่อสร้างในที่ดินแปลงเดียวกัน

“ป้าย” หมายความว่า ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย

“ตั้งอยู่ริมถนนสาธารณะ” หมายความว่า ตั้งอยู่บนแปลงที่ดินซึ่งมีด้านใดด้านหนึ่งไม่กว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะ ซึ่งใช้เป็นทางเข้าออก และแปลงที่ดินนั้นตั้งอยู่ในระยะไม่เกิน 200 เมตร จากจุดกึ่งกลางถนนสาธารณะนั้น

แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินและข้อกำหนด
กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ได้จำแนกประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน ไว้จำนวน 8 ประเภท คือ

1. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
- ที่ดินประเภท ย.1 – ย.4 (สีเหลือง) กำหนดให้เป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย
- ที่ดินประเภท ย.5 – ย.7 (สีส้ม) กำหนดให้เป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง
- ที่ดินประเภท ย.8 – ย.10 (สีน้ำตาล) กำหนดให้เป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก ที่ดินประเภทนี้ ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเป็นส่วนใหญ่ สำหรับการใช้ที่ดินเพื่อกิจการอื่นให้ใช้ได้ไม่เกินร้อยละสิบ ของที่ดินประเภทนี้ในแต่ละบริเวณ และห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการตามที่กำหนด

2. ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม (สีแดง) แบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ ที่ดินประเภท พ.1 – พ.5
ที่ดินประเภทนี้ ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม การอยู่อาศัย สถาบันราชการ การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการเป็นส่วนใหญ่ สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่นให้ใช้ได้ไม่เกิน ร้อยละสิบของ ที่ดินประเภทนี้ในแต่ละบริเวณ และห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการตามที่กำหนด

3. ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม (สีม่วง) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- ที่ดินประเภท อ.1 กำหนดเป็นเขตอุตสาหกรรม เพื่อการบริหารและจัดการ สิ่งแวดล้อม สำหรับการประกอบกิจการประเภทอุตสาหกรรมการผลิตที่มีมลพิษน้อย
- ที่ดินประเภท อ.2 กำหนดเป็นนิคมอุตสาหกรรม ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรม ที่ดินประเภทนี้ ให้ใช้ประโยชน์เพื่ออุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเป็นส่วนใหญ่ สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่นให้ใช้ได้ไม่เกินร้อยละสิบของที่ดินในแต่ละบริเวณ และห้ามใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อกิจการตามที่กำหนด

4. ที่ดินประเภทคลังสินค้า (สีเม็ดมะปราง) กำหนดเป็นที่ประเภท อ.3
ที่ดินประเภทนี้ ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อคลังสินค้า อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการบรรจุสินค้า อุตสาหกรรมเกี่ยวกับ การประกอบชิ้นส่วนต่างๆ โดยไม่มีการผลิต และอุตสาหกรรมบริการชุมชน ที่ไม่ก่อเหตุรำคาญ การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการเป็นส่วนใหญ่ สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการ อื่นให้ใช้ได้ไม่เกินร้อยละสิบของที่ดิน ประเภทนี้ในแต่ละบริเวณ และห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการตามที่กำหนด

5. ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว)
แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- ที่ดินประเภท ก.1
- ที่ดินประเภท ก.2
ที่ดินประเภทนี้ ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม สถาบันราชการ การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ และการอนุรักษ์และรักษาสภาพแวดล้อมเป็นส่วนใหญ่ สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อกิจการอื่นให้ใช้ได้ ไม่เกินร้อยละห้า และร้อยละสิบของที่ดินประเภทนี้ในแต่ละบริเวณ และห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการตามที่กำหนด

6. ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- ที่ดินประเภท ก.3
- ที่ดินประเภท ก.4
ที่ดินประเภทนี้ ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเป็นส่วนใหญ่ สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อกิจการอื่นให้ใช้ได้ไม่เกินร้อยละห้า และร้อยละสิบของที่ดินประเภทนี้ ในแต่ละบริเวณ และห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการตามที่กำหนด

7. ที่ดินประเภทอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย (สีน้ำตาลอ่อน)
แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- ที่ดินประเภท ศ.1
- ทีดินประเภท ศ.2
ที่ดินประเภทนี้ ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมท้องถิ่น การท่องเที่ยว พาณิชยกรรม การอยู่อาศัย สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเป็นส่วนใหญ่ ใหญ่ สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อกิจการอื่นให้ใช้ได้ไม่เกินร้อยละห้า ของที่ดินประเภทนี้ ในแต่ละบริเวณ และห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการตามที่กำหนด

8. ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธาณูปโภคและสาธารณูปการ (สีน้ำเงิน)
กำหนดให้เป็นที่ดินประเภท ส. ที่ดินประเภทนี้ ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อสถาบันราชการ การศาสนา การศึกษา การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ หรือสาธารณประโยชน์ การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ให้ใช้ได้เฉพาะที่จำเป็น หรือเกี่ยวเนื่องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินหลัก

แผนผังแสดงที่โล่งและข้อกำหนด
ที่โล่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สีเขียวอ่อน)
ให้ใช้ประโยชน์เพื่อนันทนาการหรือเกี่ยวข้องกับนันทนาการ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น
2. ที่โล่งพักน้ำเพื่อการป้องกันน้ำท่วม (สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีเขียว)
ให้ใช้ประโยชน์เพื่อการป้องกันน้ำท่วมการสาธารณูปโภคที่เกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วม หรือสวนสาธารณะเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น