วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

เจิ้งเหอ


เจิ้งเหอ แม่ทัพเรือผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์หมิง


 

                                                                             






     เมื่อ 600 ปีก่อน จักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิงได้สืบทอดความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรจีนต่อจากราชวงศ์ถัง ด้วยวิทยาการความรู้ อารยธรรมที่สั่งสมมานับพันปี การเดินทางของเจิ้งเหอ ในเวลานั้นได้แสดงถึงแสนยานุภาพทางทะเลของจีนที่ได้ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุด ทั้งในด้านวิทยาการด้านการเดินเรือ การทูต การทหาร ตลอดจนการค้าทางทะเล ซึ่งได้เผยแพร่ไกลออกไปสู่ซีกโลกตะวันตก ภายใต้แนวทางในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ด้วยวิถีแห่งราชันย์ ไม่ใช่วิถีแห่งทรราชย์ ที่ได้มาด้วยการเข่นฆ่าและช่วงชิง...ยึดครองดินแดนผู้อื่น
      
       ขบวนเรือของจีนภายใต้แม่ทัพใหญ่ผู้ทรงพรสวรรค์เจิ้งเหอ พร้อมด้วยเรือกว่า 200 ลำ ลูกเรือไม่ต่ำกว่า 27,000 คน ได้ยาตรารอบโลกถึง 7 ครั้ง โดยเริ่มลงทะเลครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1405 ผลกระทบที่น่าสนใจของการเดินทางของเจิ้งเหอ ที่ใกล้ตัวชาวไทยได้แก่ การท่องสมุทรครั้งที่สอง ได้มีส่วนในการปรับเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองภายในของกรุงศรีอยุธยาครั้งสำคัญ นอกจากนี้ ยังได้ทิ้งปริศนาที่ยิ่งใหญ่แก่โลก ได้แก่ ขบวนเรืออันมโหฬารของเจิ้งเหอนั้น ได้พบกับทวีปอเมริกาก่อนที่ขบวนเรือน้อยๆของโคลัมบัสพบดินแดนใหม่นี้ในปี 1492 หรือไม่ ตามทฤษฎีของนาย กาวิน เมนซีส์ สำหรับประเด็นถกเถียงนี้ ทางการจีนซึ่งก็ขาดหลักฐานใดๆในการพิสูจน์เรื่องนี้ กล่าวเพียงว่า เป็นประเด็นถกเถียงทางวิชาการ
      
       ปี 2005 นี้ เป็นโอกาสครบรอบ 600 ปีรำลึกการเดินทางท่องสมุทรของกองเรือเจิ้งเหอ ทางการจีนและชนชาวจีนจากทั่วโลก ได้จัดงานกิจกรรมเฉลิมฉลองให้กับวีรกรรมการเดินเรือครั้งยิ่งใหญ่นี้ทั้งในประเทศจีนและดินแดนต่างๆอีกกว่า 20 แห่งทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา แอฟริกา ออสเตรเลีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวันและไทย เป็นต้น งานกิจกรรมที่จัดขึ้น ได้แก่ นิทรรศการ เสวนา กิจกรรมรำลึกและการเดินทางย้อนรอยเส้นทางการเดินเรือของเจิ้งเหอ เป็นต้น
      
       เจิ้งเหอเป็นบุคคลที่ได้รับการกล่าวขานถึงตำนานชีวิตที่พลิกผันอย่างพิสดารคนหนึ่ง จากเด็กน้อยจากครอบครัวชาวมุสลิมที่ต้องกลายมาเป็นขันทีน้อย คอยติดตามรับใช้ ไปกับกองทัพหมิง 20 ปีต่อมากลับได้รับมอบหมายให้เป็นแม่ทัพบัญชาการกองเรือรบนับร้อยลำออกเดินทางท่องสมุทรถึง 7 ครั้งไปยังดินแดนห่างไกลนับหมื่นลี้ ใช้ชีวิตที่เหลือในอีก 28 ปีให้หลังสร้างประวัติศาสตร์การเดินเรือครั้งยิ่งใหญ่ให้กับชนชาติจีนและชาวโลก
       
       ชีวิตและครอบครัว
       เจิ้งเหอ (郑和)(ค.ศ. 1371 – 1433) เดิมแซ่หม่า(马)(มาจากภาษาอาหรับว่า Muhammad) ชื่อ เหอ และมีชื่อรองว่า ซันเป่า (ภาษาอาหรับคือ Abdul Subbar) ถือกำเนิดที่เมืองคุนหยางมณฑลหยุนหนันหรือยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีน ครอบครัวเป็นชาวมุสลิม ปู่และพ่อของเจิ้งเหอเคยเดินทางไปยังนครเมกกะ เพื่อร่วมพิธีฮัจญ์ พ่อของเจิ้งเหอจึงได้รับการเรียกขานด้วยความเคารพว่า หม่าฮาจือ หรือ “ฮัจญี” แม่ของเจิ้งเหอแซ่เวิน(温) เจิ้งเหอมีพี่ชายชื่อหม่าเหวินหมิง กับพี่สาวอีกสองคน ครอบครัวของเจิ้งเหอเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไปในละแวกนั้น
      
       ต่อเมื่อปี 1381 จูหยวนจางหรือหมิงไท่จู่ (ปีศักราชหงอู่)* ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง ยกทัพมากวาดล้างกองกำลังของมองโกลแห่งราชวงศ์หยวนที่ยังปักหลักอยู่ในแถบหยุนหนัน ท่ามกลางความวุ่นวายของสงคราม เจิ้งเหอที่ขณะนั้นมีวัยเพียง 11 ปี ตกเป็นเชลยศึกของกองทัพหมิง ถูกตอนเป็นขันที หรือที่เรียกว่าซิ่วถง(秀童)ให้ทำงานรับใช้ในกองทัพ
      
       หลังจากสงครามสงบลง ในปี 1385 เจิ้งเหอติดตามกองทัพหมิงขึ้นเหนือไป เข้าร่วมในสมรภูมิรบทางภาคเหนือ จวบจนอายุได้ 19 ปี จึงได้รับการคัดเลือกให้อยู่ภายใต้ร่มธงของเอี้ยนหวังจูตี้(朱棣)องค์ชายสี่แห่งราชวงศ์หมิงที่นครปักกิ่ง นับแต่นั้นเจิ้งเหอก็คอยติดตามอยู่ข้างกายของจูตี้ กลายเป็นคนสนิทที่ได้รับความไว้วางใจอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างปี 1399 – 1402 เมื่อจูตี้เปิดศึกแย่งชิงบัลลังก์กับหลานชายของตน หมิงฮุ่ยตี้ (明惠帝)(ปีศักราชเจี้ยนเหวิน) ที่สืบราชบัลลังก์ต่อจากจูหยวนจาง โดยเจิ้งเหอได้สร้างความดีความชอบในศึกครั้งนี้ไว้อย่างมาก ช่วยให้จูตี้ได้ก้าวขึ้นสู่บัลลังก์มังกรเป็นจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ (明成祖) (ปีศักราชหย่งเล่อ) ในที่สุด เจิ้งเหอได้รับการเลื่อนฐานะขึ้นเป็นหัวหน้าขันที และในปี 1404 จูตี้พระราชทานแซ่ “เจิ้ง” (郑)จึงกลายมาเป็น “เจิ้งเหอ” หรือที่รู้จักกันในนามของ ซันเป่ากง หรือซำปอกง (三宝公)
      
       เจิ้งเหอเป็นขันที จึงไม่มีบุตรหลานเป็นของตนเอง ดังนั้นพี่ชายของเขาจึงยกบุตรชายของตนให้ใช้แซ่เจิ้ง เพื่อเป็นผู้สืบทอดของเจิ้งเหอ ปัจจุบันมีทายาทหลายสาย ได้แก่ ที่หนันจิง ซูโจว หยุนหนัน และที่เชียงใหม่ประเทศไทย
      
       * จูหยวนจาง(朱元璋)เป็นชื่อก่อนขึ้นครองราชย์ หมิงไท่จู่(明太祖)เป็นพระนามอย่างเป็นทางการ ส่วนหงอู่(洪武)เป็นปีศักราชที่ใช้ในรัชสมัยนี้ เช่นเดียวกับเจี้ยนเหวิน(建文)และหย่งเล่อ(永乐)ล้วนเป็นปีศักราชของหมิงฮุ่ยตี้(明惠帝)และหมิงเฉิงจู่(明成祖)ตามลำดับ
      
       ภูมิหลังทางการเมือง
       
จูหยวนจาง สถาปนาราชวงศ์หมิง ขึ้นในปี 1368 ขับไล่กองทัพมองโกลออกจากประเทศจีนได้เป็นผลสำเร็จ ปี 1392 จูเพียวโอรสองค์โตสิ้น จูหยวนจางจึงตั้งจูหยุนเหวิน(朱允文)บุตรชายของจูเพียวที่มีวัยเพียง 14 ปีขึ้นเป็นรัชทายาทแทน และเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับราชบัลลังก์สืบต่อไป ปลายรัชกาลจูหยวนจางได้ดำเนินการปราบปรามผู้ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้สืบทอดราชบัลลังก์ในอนาคต โดยการกวาดล้างผู้ต้องสงสัยทั้งหลาย ทั้งที่เป็นเชื้อพระวงศ์และขุนนางแม่ทัพคนสนิทที่ไม่เห็นด้วย ต่อเมื่อจูหยุนเหวินขึ้นครองราชย์ เป็นหมิงฮุ่ยตี้ (明惠帝)บ้านเมืองตกอยู่ในบรรยากาศอึมครึมทางการเมืองและเต็มไปด้วยความหวาดระแวงไปทั่ว โดยพระองค์ยังคงดำเนินการลิดรอนอำนาจของเหล่าเชื้อพระวงศ์อาวุโสที่เห็นว่าอาจส่งผลบีบคั้นต่อราชบัลลังก์ต่อไป
      
       แต่แล้วเจ้าเอี้ยนหวังจูตี้(朱棣)ที่มีฐานที่มั่นกล้าแข็งในเป่ยผิง (ปัจจุบันคือปักกิ่ง) ยกกองกำลังบุกลงใต้ เข้ายึดเมืองหนันจิงหรือนานกิงไว้ได้ในปี 1402 เมื่อเข้าถึงพระราชวัง เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่เผาผลาญพระราชวังชั้นใน แต่ไม่พบพระศพของหมิงฮุ่ยตี้ จึงเป็นที่โจษจันกันว่าพระองค์ยังคงมีชีวิตรอดอยู่ และได้ปลอมเป็นพระภิกษุหลบหนีออกจากนครหลวงสู่ทะเลจีนใต้ อันเป็นที่มาของเสียงเล่าลือว่า จุดมุ่งหมายสำคัญในการเดินทางของเจิ้งเหอ แฝงนัยสำคัญทางการเมืองนี้อยู่ด้วย
      
       อย่างไรก็ตาม การที่เจิ้งเหอได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการคุมกองเรือขนาดใหญ่นี้ ทั้งที่ในเวลานั้น ขันทีมีสถานภาพที่ต่ำต้อยในสังคมนั้น ได้มีผู้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้มากมาย แต่ที่น่าเชื่อถือก็ได้แก่ การที่เจิ้งเหอเป็นบุคคลที่จูตี้ให้ความไว้วางใจอย่างสูง ทั้งจากการที่เป็นขันทีคนสนิทมาแต่เก่าก่อน และเนื่องมาจากความดีความชอบในการบุกเมืองหนันจิง หนุนให้จูตี้ขึ้นสู่บัลลังก์มังกรได้สำเร็จ นอกจากนี้ เป้าหมายในการเดินทางสู่ดินแดนต่างชาติต่างศาสนานั้น คุณสมบัติหนึ่งที่สำคัญในการติดต่อสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่นนั้นก็คือ ศาสนา ซึ่งหากพิจารณาจากพื้นฐานครอบครัวของเจิ้งเหอที่เป็นชาวมุสลิม (ทั้งพ่อกับปู่เคยเดินทางไปเมกกะมาแล้ว) และเจิ้งเหอเองก็นับถือพุทธ ที่สำคัญคือต้องมีความรู้ความสามารถในการนำทัพเดินทางไกล ซึ่งเจิ้งเหอก็ได้พิสูจน์ความสามารถในการนำทัพมาแล้ว
      
       เป้าหมายในการเดินทาง
       การเดินทางของเจิ้งเหอเป็นภารกิจระดับชาติ ดังนั้นการที่ราชสำนักหมิงส่งเจิ้งเหอพร้อมกับขบวนเรืออันมโหฬารออกเดินทางไปในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ย่อมต้องมีนัยสำคัญของชาติ แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงอันเป็นที่มาของตำนานการเดินทางอันยาวนานของเจิ้งเหอยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่จากการศึกษาค้นคว้าในปัจจุบัน ได้มีผู้เสนอแนวคิดหลักเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของการเดินทางไว้ดังนี้

                                                                                         เส้นทางเดินเรือของเจิ้งเหอ    

1. คลี่คลายปัญหาในการสืบราชบัลลังก์ การค้นหาร่องรอยของอดีตจักรพรรดิหมิงฮุ่ยตี้ ก็เพื่อสร้างความมั่นใจและมั่นคงแก่ราชบัลลังก์ของจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ (หย่งเล่อ)
2. ประโยชน์ทางการเมือง การเดินทางของเจิ้งเหอมีภารกิจในการผลักดันให้เกิดความสงบมั่นคงในดินแดนรอบข้างทางตอนใต้ ทั้งนี้ก็เพื่อผ่อนคลายแรงกดดันจากภัยคุกคามทางภาคเหนือ (มองโกล) ให้กับราชสำนักจีน (เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว ดินแดนในเขตเอเชียอาคเนย์กำลังเกิดความตึงเครียดอันเนื่องมาจากการแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มชวา สยาม (อยุธยา+ ละโว้) และมะละกา)
3. ประโยชน์ทางการทูต เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ไปยังเขตแคว้นต่างๆ สร้างกระแสภาพลักษณ์แห่งความเป็นมหาอำนาจที่เข้มแข็งให้กับจีน
4. บุกเบิกกิจการค้าทางทะเล ที่ให้ผลกำไรอย่างงดงาม โดยสินค้าที่นำไปค้าขายแลกเปลี่ยน ได้แก่ แพรไหม ผ้าปักอันงดงาม เครื่องเคลือบกังไส ใบชา เครื่องทอง สัมฤทธิ์ และน้ำมันพืชสมุนไพรต่างๆ เป็นต้น





เปรียบเทียบกองเรือของเจิ้งเหอกับกองเรือของนักสำรวจชาวตะวันตก         
เรือมหาสมบัติ หรือ เป่าฉวน อันเป็นเรือธงของเจิ้งเหอนั้น ตามบันทึกในสมัยราชวงศ์หมิงระบุว่า มีขนาดความยาวถึงลำละ 400 ฟุต กว้าง 160 ฟุต มี 9 เสากระโดงเรือ ในขบวนกองเรือประกอบไปด้วยเรือเสบียง เรือกำลังพล เรือรบ ฯลฯ รวมกว่า 300 ลำ ลูกเรือเกือบ 28,000 ชีวิต
หากนำเรือมหาสมบัติของจีนมาเปรียบเทียบกับเรือ ซานตา มาเรีย (Santa Maria)หรือเรือธงของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) นักเดินเรือชาวอิตาลี ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ค้นพบโลกใหม่คือทวีปอเมริกา ในปี ค.ศ.1492 ซึ่งห่างจากปีที่กองเรือของเจิ้งเหอออกสำรวจมหาสมุทรครั้งแรกถึง 87 ปี เรือซานตา มาเรียของโคลัมบัส วีรบุรุษผู้ค้นพบโลกใหม่ ยังเล็กกว่าเรือมหาสมบัติของจีนถึง 4 เท่า โดยมีความยาวเพียง 85 ฟุต กว้าง 20 ฟุต มีกองเรือติดตาม 3 ลำ และลูกเรือ 87 คน
ต่อมาในปี ค.ศ.1498 วาสโก ดา กามา (Vasco Da Gama) นักเดินเรือชาวโปรตุเกส ได้ล่องเรืออ้อมแหลมกูดโฮปที่อาฟริกาใต้มาจนถึงชายฝั่งตะวันออก ระหว่างการเดินเรือไปยังอินเดียได้เป็นผลสำเร็จ กองเรือของเขาก็มีความยาวเพียง 85-100 ฟุต และลูกเรือ 265 คนเท่านั้น และในปี ค.ศ.1521 เฟอร์ดินันด์ แมคแจลลัน (Ferdinand Magallan) นักเดินเรือชาวโปรตุเกส เดินเรือมาถึงทะเลจีนใต้ ด้วยการเดินเรือมาทางตะวันตกเป็นครั้งแรก กองเรือของเขามีความยาวเพียง 100 ฟุต และมีลูกเรือเพียง 160 คน เท่านั้น


ลักษณะเรือของเจิ้งเหอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น