วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

ศิลาโรเซตตา(Rosetta) เปิดตำนานอียิปต์


ศิลาโรเซตตา(Rosetta) เปิดตำนานอียิปต์






ศิลา Rosetta คือ แผ่นหินแกรนิตสีเทาที่มีความสำคัญมากในวิทยาการด้านอียิปต์วิทยา เพราะคำจารึกที่ปรากฏบนแผ่นศิลานี้ช่วยให้โลกรู้อารยธรรมของอียิปต์เมื่อ 2,000 ปีก่อนอย่างสมบูรณ์ ณ วันนี้ ศิลา Rosetta ถูกประดิษฐานอยู่ที่ British Museum ประเทศอังกฤษ  และนับเป็นวัตถุโบราณสำคัญที่ทุกคนที่เข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ต้องเยี่ยมชม
 
          สำหรับการที่อังกฤษได้มาซึ่งวัตถุโบราณชิ้นนี้ ก็มีตำนานเล่าขานมากมาย เช่น บางตำนานอ้างว่า นายพล Tomkyns Hilgrove Turner ผู้บังคับการของเรือรบ L’ Egyptienne บอกว่า เขาเป็นผู้นำแผ่นศิลา Rosetta ที่ยึดได้ในสงครามระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสในอียิปต์มาอังกฤษเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2345 เพราะคิดว่า คำจารึกที่ปรากฏบนแผ่นศิลาจะไขปริศนาความลึกลับของ อักษรภาพ (hieroglyph) ซึ่งถ้าอ่านได้ ก็จะบอกแหล่งซ่อนมหาสมบัติแห่งฟาโรห์ทุกองค์ อนึ่งในจดหมายที่ Turner เขียนถึงนายกสมาคม Society of Antiquities ในอีก 8 ปีต่อมา เขาได้อ้างว่า มีทหารฝรั่งเศสคนหนึ่งได้นำแผ่นศิลา Rosetta มามอบให้เขาที่ถนนเล็ก ๆ สายหนึ่งในเมือง Alexandria 
    
           ส่วน Edward Daniel Clark นักผจญภัยผู้เป็นสหายของ Lord Elgin ก็ได้อ้างว่า ใน พ.ศ. 2344 เมื่อฝรั่งเศสปราชัยอังกฤษในการสู้รบทางเรือที่อ่าว Aboukir ใกล้เมือง Alexandria คนทั้งสองได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากบรรดาปราชญ์ฝรั่งเศสที่ได้ติดตาม Napoleon มาสำรวจอียิปต์ และนักวิชาการกลุ่มนี้ได้แอบมอบศิลา Rosetta ให้ Clark โดยไม่มีใครอื่นได้รู้เห็นเช่นกัน 
          และในปี 2543 เมื่อนักประวัติศาสตร์ได้วิเคราะห์จดหมายของนายพล T. Marmaduke Wybourn ก็ได้พบว่า ข้อความที่ปรากฏในจดหมายฉบับนั้น ยิ่งทำให้ทุกคนงุนงง เพราะ Wybourn อ้างว่าเรือที่นำแผ่นศิลา Rosetta ไปอังกฤษ คือเรือรบชื่อ Madras 
          ความจริงของเหตุการณ์นี้เป็นเช่นไร


        ในวารสาร History Today ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 Richard Parkinson ได้รายงานว่า ในปี 2341 เมื่อจักรพรรดิ Napoleon ของฝรั่งเศสทรงปราชัยในการยึดครองเส้นทางเดินเรือระหว่างอังกฤษกับอินเดีย พระองค์ได้ทรงหลบหนีการจับกุมที่อ่าว Aboukir และเสด็จกลับถึงฝรั่งเศสโดยได้ทอดทิ้งบรรดาปราชญ์วิชาการจำนวน 167 คน ที่พระองค์ทรงนำไปด้วยในการเสด็จเยือนอียิปต์ให้เผชิญชีวิตโดยลำพัง และถึงแม้จะถูกปล่อยเกาะ บรรดาพหูสูตเหล่านั้นก็ยังเดินหน้าสำรวจดินแดนต่าง ๆ ในอียิปต์ต่อ เช่น ทำแผนที่ บันทึกข้อมูลวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศิลปศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และประวัติศาสตร์ จนได้ข้อมูลมากมาย และผลงานรวมเล่มก็ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นชุดหนังสือที่มี 24 เล่ม ชื่อ Description de l’ Egypte จนทำให้วงการวิชาการถือว่า นี่คือชุดตำราที่อุดมด้วยเนื้อหา และคุณภาพมาก 
        อนึ่งประวัติศาสตร์ยังได้บันทึกว่า ปราชญ์ฝรั่งเศสกลุ่มนี้มีศิลา Rosetta ในครอบครอง เพราะได้รับบริจาคจากคณะทหารฝรั่งเศส ซึ่งได้พบแผ่นศิลาที่หนัก 768 กิโลกรัม ในราวกลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2342 ว่าฝังอยู่ที่ชายฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ Nile ที่ไหลผ่านเมือง Roshid (เพราะเมืองนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Rosetta ดังนั้น ชื่อของศิลาจึงเรียกศิลา Rosetta) และในเวลาต่อมา นายพล Pierre Francois Xavier Bouchard ก็ได้นำศิลา Rosetta ไปมอบให้พิพิธภัณฑ์ที่ Cairo
    
           ศิลา Rosetta ที่ทำด้วย หินแกรนิตนี้มีสีเทา - ดำ ยาว 1.44 เมตร กว้าง 72 เซนติเมตร และหนา 28 เซนติเมตร มีอักษรจารึก 3 ภาษา โดยภาษาที่ปรากฏบนสุดเป็นอักษรภาพ hieroglyph ส่วนกลางเป็นภาษาอียิปต์โบราณ (demotic) และล่างสุดเป็นภาษากรีก เมื่อศิลา Rosetta ถูกพบใหม่ ๆ ข่าวการพบได้ถูกนำออกเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ Courier de l’ Egypte ของอียิปต์ และได้รับความสนใจมาก เพราะนักข่าวเขียนว่า นี่คือแผ่นปริศนาภาษาอักษรภาพที่ถ้าใครอ่านออก เขาก็จะเป็นมหาเศรษฐีทันที เพราะจะล่วงรู้แหล่งซ่อนของมหาสมบัติแห่งองค์ฟาโรห์
          ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า เมื่อถึงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2344 กองทัพเรือของอังกฤษได้ยกพลขึ้นบกที่เมือง Alexandria และทันทีที่รู้ข่าวนี้ บรรดาปราชญ์ฝรั่งเศสก็ได้จัดประชุมอย่างเร่งด่วนที่ Institut d’ Egypte ใน Cairo เพื่อตัดสินใจว่า จะพำนักอยู่ที่ Cairo ต่อหรือจะทิ้ง Cairo ไป ในเวลาต่อมาทหารและปราชญ์หลายคนได้ตัดสินใจหนีไปเมือง Alexandria และหนึ่งในบรรดาคนที่หนีไปในครั้งนั้น คือ Comte de Menou ผู้ซึ่งได้อพยพออกจาก Cairo เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2344 และได้ขนแผ่นศิลา Rosetta ไปด้วย และทันทีที่ถึงเมือง Alexandria นายพล Menou ก็สั่งให้ปิดประตูเมืองทันที เพราะกลัวกองทัพอังกฤษจะบุกยึดเมือง
    
        การยอมจำนนของฝรั่งเศสที่ Cairo เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ปีนั้น ทำให้ทหารฝรั่งเศสได้รับการอนุญาตให้เดินทางกลับฝรั่งเศสได้ โดยไม่ถูกจับกุมตัวเป็นเชลย และอังกฤษก็ได้อนุญาตให้ทหารสามารถนำสมบัติส่วนตัวเท่านั้นติดตัวไปได้ แต่สมบัติอื่น ๆ ที่มิใช่ส่วนตัวได้ถูกสั่งห้ามเคลื่อนย้ายใด ๆ
         จากนั้น กองทัพอังกฤษได้เดินทางจาก Cairo ถึงเมือง Alexandria และเมื่อทหารฝรั่งเศสหมดหนทางต่อสู้ การลงนามในสัญญาสงบศึกเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2344 ก็ได้ทำให้นักวิชาการอังกฤษเห็นศิลา Rosetta เป็นครั้งแรก จึงอยากได้ศิลานี้เป็นสมบัติของอังกฤษทันที แต่นายพล Menou ไม่ยินยอม โดยอ้างว่า มันเป็นสมบัติของ Institut d’ Egypte

          ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น Edward Daniel Clark ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี โบราณคดี และแร่ ได้เดินทางถึง Cairo เพื่อค้นหาวัตถุโบราณ แต่เพื่อนของ Clark ที่ Cairo บอกว่า ทหารฝรั่งเศสได้ขนสมบัติอียิปต์หนีไปที่ Alexandria หมดแล้ว และกำลังจะขนไปฝรั่งเศสต่อไป

          Clark จึงเดินทางถึง Alexandria เมื่อวันที่ 10 กันยายน และได้เข้าพบนายพล Hutchison แห่งอังกฤษที่กำลังปกครองเมือง Alexandria เพื่อให้ออกคำสั่งอนุญาตให้นักวิชาการฝรั่งเศสทุกคนนำสิ่งที่ติดตัวจากฝรั่งเศสมาอียิปต์เท่านั้นกลับฝรั่งเศสได้ บรรดาสรรพสิ่งต่างๆ ที่พบ ที่หา หรือที่ขุดได้ในอียิปต์ จะต้องถูกกองทัพอังกฤษอายัดยึดหมด ทันทีที่ได้รับคำสั่งนี้ Menou รู้สึกโกรธมาก เขาจึงกล่าวบริภาษ Clark ว่าเป็นโจร และได้นำศิลา Rosetta ๆ ไปซ่อนในที่มิดชิด ในวันที่ 11 กันยายน นายพล Hutchison ได้สั่ง Menou ให้นำศิลา Rosetta มาให้ดู มิฉะนั้น บ้านของ Menou ก็จะถูกค้น เมื่อถูกคาดคั้น และรุกฆาต Menou จึงนำศิลา Rosetta ที่มีเสื่อเก่าๆ พันมามอบให้ Hutchison เพื่อนำขึ้นเรือ L’ Egyptienne เดินทางไปอังกฤษ และเรือเดินทางถึงท่าเมือง Portsmouth ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2345 และสมาคม Society of Antiquities ก็ได้รับรู้เรื่องนี้ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2345

          ในปี พ.ศ. 2361 Thomas Young นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษได้พยายามถอดภาษาอักษรภาพจนรู้ความหมายของคำประมาณ 50 คำ และเมื่อเขาพบว่า คำเหล่านี้บรรยายเรื่องของเทพเจ้า แทนที่จะกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของอียิปต์ ดาราศาสตร์ หรือปฏิทิน เขาจึงหมดอารมณ์อยากอ่านต่อ และปล่อยให้ Jean - Francois Champollion แห่งฝรั่งเศส


 Jean - Francois Champollion
            หลังจากที่ได้เพียรพยายามถึง 14 ปี ในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2384  Champollion ก็ได้ประสบความสำเร็จในการถอดความของภาษา hieroglyph โดยได้พบว่า ในบางครั้งภาพ 2-3 ภาพ สามารถรวมกันเป็น 1 อักษรในภาษากรีก ได้และข้อความที่ปรากฏบนศิลา Rosetta มีชื่อของฟาโรห์ เช่น Alexander, Tiberius, Germanicus, Trajan, Rameses, Thutmosis ฯลฯ
                เขาจึงได้ตีพิมพ์ผลงานนี้ในปี พ.ศ. 2365 ซึ่งทำให้โลกฮือฮามาก เพราะเขานี่เองที่ทำให้คนปัจจุบันล่วงรู้และเข้าใจอารยธรรมอียิปต์เมื่อ 2,000 ปีก่อนได้เป็นครั้งแรก และความสำเร็จของ Champollion ในครั้งนั้นก็ถือได้ว่า เป็นการเปิดโลกวิทยาการด้านอียิปต์วิทยาด้วย เพราะได้ทำให้นักวิชาการรู้รหัสภาพ และคำจารึกต่างๆ ที่ปรากฏบนผนังพีระมิด รวมทั้งบนกระดาษ papyrus ก็เป็นที่เข้าใจได้หมด
          เมื่อถอดความบนศิลา Rosetta ได้สำเร็จ สุขภาพของ Champollion ก็ทรุดหนัก โรคต่างๆ เช่น เบาหวาน และวัณโรคได้รุมเร้าจน Champolion รู้ดีว่า เวลาของเขาที่เหลือมีน้อย เขาจึงร้องไห้ และร้องขอพระเจ้าให้โปรดประทานชีวิตเขาต่ออีก 2 ปี แต่คำอธิษฐานของ Champollion มิเป็นผล เพราะในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2365 เขาก็ได้ตายจากโลกไปด้วยโรคหัวใจวาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น