วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

วิธีทำเรซูเม่


วิธีทำเรซูเม่
การเขียนเรซูเม่


ออกแบบ 'เรซูเม่' แผนการรบเพื่อสร้างโอกาสการทำงานUploadImage

ในสนามรบ กองทัพจะเข้มแข็งแค่ไหน ก็ยังไม่เพียงพอกับชัยชนะ สิ่งที่สำคัญพอๆ กันก็คือต้องรู้จักวางแผนให้รัดกุมด้วย การสมัครงานก็เช่นเดียวกัน นอกจากจะต้องพัฒนาตัวเองให้มีคุณภาพแล้ว ถึงเวลาการไปสมัครงาน ก็ไม่ต่างจากการออกศึกใหญ่ ที่ต้องแข่งขันกับคนอีกนับแสนชีวิตที่ต้องการทำงาน

อีกไม่กี่เดือน นักศึกษาที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยทั้งหลาย ก็จะต้องออกไปเผชิญหน้ากับโลกของการทำงานจริง ๆ แล้ว ซึ่งแนวทางการสมัครงานเบื้องต้นนั้น สิ่งที่จะเป็นใบเบิกทางนอกจากใบปริญญาตรี และสารพัดผลงานที่เก็บสะสมกันมานานแรม 4 ปีแล้ว (หรืออาจมากกว่าสำหรับบางคณะ) ยังมีสิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่ไม่อาจลืมกันได้คือการเขียนประวัติการทำงานของตัวเอง หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า “เรซูเม่” (Resume) นั่นเอง


“เรซูเม่” นั้นมีความสำคัญไม่แพ้กับใบรับรองการศึกษาเลยก็ว่าได้ ในการสมัครงาน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องจัดแฟ้มใส่เอกสารต่าง ๆ เพื่อนำเสนอตัวเราเองนั้น ต่างต้องเอาใบเรซูเม่ขึ้นมาไว้เป็นใบแรกในแฟ้มสะสมผลงานเล่มนั้นแน่นอน เพราะเรซูเม่จะแสดงถึงประวัติการเรียน การทำงาน และประสบการณ์ต่าง ๆ มากมาย โดยย่อ ซึ่งการที่นายจ้างเห็นเรซูเม่แล้วเกิดความสนใจจนต้องเรียกผู้สมัครไปสัมภาษณ์ เท่ากับว่าโอกาสได้งานมีมากถึง 50% แล้ว การเขียนเรซูเม่จึงมีความสำคัญ และต้องใช้ความตั้งใจในการเขียนอย่างมาก

อิทธิพลของสื่อออนไลน์ต่อการสมัครงาน

ปัจจุบันนี้สื่อสังคมออนไลน์ ทำให้การทำเรซูเม่นั้น สามารถสร้างสรรค์ไอเดียต่าง ๆ มีความน่าสนใจมากขึ้น เห็นได้จากการสมัครงานในบริษัทที่ต่างประเทศ ที่นอกจากจะทำเรซูเม่จะดูสวยงาม สะดุดตาแล้ว ก็ยังแสดงความสามารถของผู้สมัคร เช่น การอัดวิดีโอไว้ และอัพโหลดขึ้นในเว็บไซต์ Youtube แต่จะออกมาดีหรือไม่ดี ก็อยู่ที่ไอเดียของผู้สร้างสรรค์ แต่ทั้งนี้การนำเสนอเรซูเม่แบบวิดีโอ จะใช้ได้ผลกับบริษัทในประเทศไทยได้ผลหรือไม่ ก็คงต้องขึ้นอยู่กับทางบริษัทนั้นๆ
 
 UploadImage

ผู้สมัครงานกับแนวทางการเขียนเรซูเม่

การเขียนเรซูเม่ของนักศึกษาจบใหม่ ๆ นั้น นายกุลทรัพย์ วัฒนผล หรือพี่อัพ นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งปัจจุบันนี้กำลังหางานอยู่ กล่าวถึงการเลือกเรซูเม่ที่วางแผนทำไว้สำหรับการสมัครงานว่า จะต้องดูว่าขึ้นอยู่กับสายงานที่จะไปสมัครงานว่าเป็นแบบไหน เช่น เรียนจบนิเทศศาสตร์ ก็จะใช้ความคิดสร้างสรรค์และผลงานเยอะหน่อย มีรูปแบบการเขียน และลูกเล่นต่าง ๆ ที่หลากหลาย และแสดงถึงตัวตนออกมา

คนที่จบบริหารธุรกิจ หรือบัญชี ก็จะเน้นเรื่องการใส่ข้อมูล และผลงานเก่าต่าง ๆ เช่น ใบประสบการณ์การทำงาน คะแนนเสริมภาษาอังกฤษ ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบทั่วไปมากกว่า”

ส่วนเรซูเม่ที่มีสีสัน มีการใช้เฉดสี ใช้กราฟฟิกหรือใช้สื่อออนไลน์ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจของเรซูเม่นั้น คุณกุลทรัพย์กล่าวว่า ถ้ามีโอกาสก็อยากจะลองทำดู แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะนำไปใช้ที่ไหน หรือใช้อย่างไร เพราะบางบริษัทนั้นถ้าไม่ได้ต้องการแบบที่ตายตัว ก็สามารถทำได้ แต่ยังมีหลายบริษัทส่วนใหญ่ ที่ยังกำหนดรูปแบบปกติ ก็ยังไม่กล้าที่จะทำเรซูเม่ในลักษณะนี้

ด้านนางสาวนิษนิภา นีละพันธ์ หรือน้องแพร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวถึงการคัดเลือกผลงานเพื่อบรรจุใส่ในเรซูเม่ว่า ก็มีการดึงผลงานเด่นจากการฝึกงาน ที่ได้รับการตีพิมพ์ มีโครงเรื่องเพื่อแสดงเป็นหลักฐานไว้ด้วย จึงทำให้มั่นใจว่ามีผลงานที่เผยแพร่ออกไปแล้ว

ทั้งนี้นางสาวนิษนิภา กล่าวถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการทำเรซูเม่เพื่อแนะนำตัวเองในการสมัครงานว่า มีความยุ่งยาก เพราะกลัวว่าฝ่ายบุคคลไม่สะดวกที่จะเปิดดูเรซูเม่ในลักษณะนี้ แต่ถือว่าสะดวกสำหรับผู้สมัครที่สามารถฝากลิงก์เว็บไซต์เหล่านี้ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าฝ่ายบุคคลจะเปิดดูประวัติของเราหรือเปล่าซึ่งเจ้าตัวก็คาดหวังว่าจะถูกเรียกสัมภาษณ์งาน และมีโอกาสได้เข้าไปร่วมงานกับบริษัทที่ตั้งใจไว้

“สำหรับบริษัทที่คาดหวังว่าจะได้ร่วมงาน ก็ขอให้ได้เป็นที่ที่เคยฝึกงาน ที่ทำงานที่คุ้นเคย และที่ที่เป็นบริษัทใหญ่ ๆ ซึ่งจะได้หรือไม่ ก็อยู่ที่การพิจารณาของบริษัทเหล่านั้น”

เทคนิคการทำเรซูเม่เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้งาน

น้องๆ หลายคนที่กำลังกังวลใจ หรือไม่มั่นใจว่าเรซูเม่ที่เขียน จะสร้างโอกาสให้ได้งานมากน้อยแค่ไหน คุณอารีย์ เพ็ชรรัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท อารี แอน แอสโซซีเอทส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากรบุคคล ได้กล่าวถึงแนวทางการทำเรซูเม่สมัครงานในประเทศไทยว่า ยังเน้นการสมัครงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ตตามเว็บไซต์สมัครงานต่าง ๆ ซึ่งเมื่อผู้สมัครงานเข้าสู่ระบบการสมัครงานผ่านเว็บไซต์ เรซูเม่เหล่านี้ก็จะถูกจำกัดด้วยรูปแบบการจัดหน้าตามเว็บไซต์สมัครงานเหล่านี้

“อย่างเว็บไซต์สมัครงาน JOBDB ก็จะให้เขียนตามรูปแบบของข้อมูลของเว็บไซต์นี้ ซึ่งผู้สมัครงานบางคนก็สามารถที่จะนำเรซูเม่ที่เขียนไว้ มาใส่เป็นข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ได้ แต่ในเบื้องต้นของการกรอกข้อมูลสมัครงาน ก็จะกรอกข้อมูลตามรูปแบบของเว็บไซต์สมัครงานไปก่อน และเมื่อเข้าสู่กระบวนการสัมภาษณ์งาน ก็จะมีการขอเรซูเม่ที่ผู้สมัครเขียนไว้เอง ซึ่งรูปแบบของเรซูเม่เหล่านี้ก็ยังคล้ายกับเรซูเม่รูปแบบเดิม

กลับสู่จุดเริ่มต้นอย่างมีชั้นเชิง
รูปแบบเรซูเม่ที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยนี้ คุณอารีย์กล่าวว่าเป็นเรซูเม่รูปแบบ Chronicle (โครนิคอล) ซึ่งเป็นรูปแบบตามเวลาล่าสุด และไล่เวลาลงไป เช่น การนำเสนอประวัติการศึกษาตัวเอง ให้นำเสนอตั้งแต่การศึกษาล่าสุดของเรา จนถึงการศึกษาในอดีต

“ในลักษณะของการรับรู้ของผู้อ่าน จะนึกถึงภาพปัจจุบันก่อน และถอยหลังลงมาจนถึงอดีต ฉะนั้นนักศึกษาจึงต้องนำเสนอว่าจบปริญญาตรีเมื่อไหร่ และไล่เรียงประวัติการศึกษาลงมา ไม่ต้องถึงประถมศึกษาก็ได้ แค่มัธยมศึกษาก็น่าจะเพียงพอแล้ว”
สีสัน ลูกเล่น ใช้ถูกที่ ถูกเวลา ถูกตำแหน่งงาน
เรซูเม่ที่ได้รับเมื่อถึงขั้นตอนการสัมภาษณ์งาน คุณอารีย์ กล่าวว่า บางครั้งก็จะเห็นเรซูเม่ที่มีการปรับรูปแบบให้ดูดีขึ้น เช่นการใส่ภาพกราฟฟิก ใส่สีสัน แต่ประเด็นของผู้สรรหา จะไม่ได้มองแค่รูปแบบเหล่านี้อย่างเดียว แต่จะมองการนำเสนอเนื้อหาในเรซูเม่มากกว่า ดังนั้นเรซูเม่ที่มีการใช้สีสัน ใช้ภาพกราฟฟิกประกอบ คุณอารีย์บอกว่าในเมืองไทย ยังไม่ค่อยได้รับความนิยมมาก เพราะเมืองไทยยังใช้รูปแบบการสัมภาษณ์แบบเดิมอยู่ แต่มีบางตำแหน่งงาน ที่ผู้สรรหาอาจสนใจเรซูเม่รูปแบบนี้ได้

“บางตำแหน่ง เช่นตำแหน่งงานด้านกราฟฟิกดีไซน์ หรือด้านการนำเสนอตัวเอง ที่นายจ้างอาจสนใจเรซูเม่รูปแบบนี้ได้ แต่ถ้าเป็นตำแหน่งทั่วไป การนำเสนอแบบนี้ยังไม่ถือว่าเป็นจุดขายที่โดดเด่นมากนัก”

ทำด้วยความตั้งใจจริง สั้น กระชับ อ่านง่าย

การจัดเรซูเม่สำหรับน้อง ๆ นักศึกษาที่เพิ่งจบการศึกษา ส่วนใหญ่จะมองตัวเองว่าไม่มีประสบการณ์ การนำเสนอเรซูเม่จึงรู้สึกว่ามีปมด้อย และการเขียนเรซูเม่มาแบบเดียวแล้วส่งไปทั่ว เป็นสิ่งที่นายจ้างมองว่า เราไม่ได้แสดงความตั้งใจที่เข้าทำงานกับบริษัทนั้นจริง ๆ จึงแนะนำว่า ต้องเขียนเรซูเม่ด้วยความตั้งใจ ต้องรู้ว่าเขียนให้ใคร เขียนให้บริษัทแบบไหน เขียนให้ผู้อ่านรู้สึกแบบเดียวกับผู้เขียน ซึ่งเรื่องนี้คุณอารีย์ได้อธิบายให้ฟังว่า

“แนะนำว่าให้เขียนเรซูเม่ให้สั้น กระชับ ใช้กระดาษ A4 ไม่เกินสองหน้า มีรูปแบบพื้นที่กว้าง อ่านสบายตา เนื้อหาสำคัญต้องอยู่หน้าแรก และฝั่งของนายจ้างจะดูเรซูเม่ที่น่าสนใจ ความละเอียดในการเขียน ไม่มีการพิมพ์ตก เพราะนายจ้างจะเห็นแต่กระดาษ ยังไม่ได้เห็นหน้าตาของผู้สมัคร กรณีนักศึกษาจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ เป็นสิ่งที่นายจ้างยอมรับได้ แต่ความเป็นตัวของเราเป็นสิ่งที่ต้องนำเสนอออกมาใน 2-3 บรรทัดแรกของ Resume”

อัพเดตก่อน ย่อมได้เปรียบ

การคัดเลือกผลงานจากการทำงาน เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง และต้องคัดเลือกผลงานใหม่ที่สุดใส่ลงไปก่อน ต่อด้วยผลงานเด่นๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตการทำงาน

“งานที่ไม่โดดเด่น งานที่เป็นงานชิ้นเล็กชิ้นน้อย ให้ใส่ไว้ท้าย ๆ ส่วนงานล่าสุด และสำคัญที่สุด ให้ใส่มาในลำดับตั้น ๆ ก่อนเลย”

ชีวิตการทำงานกับชีวิตการเรียน ต่างกันอย่างสิ้นเชิง

นักศึกษารุ่นใหม่ที่กำลังจะจบการศึกษา และจะเข้ามาทำงานจะต้องเจอกับคนที่มีอายุงานมากกว่า ประสบการณ์มากกว่า ซึ่งจะเป็นคนหลากหลายกลุ่ม ชีวิตการทำงานกับการเรียนย่อมไม่เหมือนกัน ดังนั้นควรเตรียมความพร้อมก่อน เพราะสิ่งที่ต้องเจอกับการทำงาน จะไม่เหมือนกับสิ่งที่เจอในมหาวิทยาลัย

“บางคนคิดว่าจะมาลองงาน 2-3 เดือน และเมื่อเบื่อ ก็เปลี่ยนงานใหม่ที่เราใช่ ซึ่งไม่ควรคิดแบบนั้น จึงอยากให้เลือกงานในลักษณะระยะยาว งานนี้ใช่กับตัวเราหรือไม่ หลายคนอาจคิดว่าทำไปก่อนดีกว่าตกงาน แต่ในทัศนคติของนายจ้าง จะมองว่ามาแล้วทำงานแค่ 2-3 เดือนแล้วก็ออก ซึ่งนายจ้างจะมองว่าเป็นเด็กไม่อดทน และจะทำให้ประวัติการทำงานเสีย ฉะนั้นเวลาเลือกงานให้ค้นหาตัวเองก่อนจะเลือกงานว่า ถนัดอะไร ชอบงานแบบไหน เราเป็นคนแบบไหน”
จบที่ไหนก็ทำงานได้
อีก 1 คำแนะนำสำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการ “ตั๋ว” เดินทางไปสู่เส้นทางการทำงานที่ใฝ่ฝัน แต่สิ่งที่น่าคิดในสังคมคือต้องยอมรับความจริงว่าการรับคนเข้าทำงานโดยดูจากสถาบันการศึกษา สำหรับนักศึกษาที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่นั้น ยังมีอยู่จริงในสังคมอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะสังคมเองคิดว่าคนที่จบการศึกษาจากสถาบันของรัฐบาลนั้น มีศักยภาพมากกว่า ซึ่งเป็นทัศนคติของผู้สรรหาอยู่บ้าง แต่ความจริงแล้วในการทำงานจริง สถาบันการศึกษาไม่ได้เป็นตัวกำหนดคุณภาพของคนทำงาน เพราะอย่างน้อย เมื่อส่งผู้สมัครเข้าสู่การงานไปได้ในระยะหนึ่ง ก็จะลืมแล้วว่าเขาจบอะไรมา แต่จะเห็นว่าเขาเป็นใคร ทำอะไรได้บ้าง ซึ่งแท้จริงแล้ว การทำงานนั้นอาจเป็นสิ่งสำคัญว่าสถาบันก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น